วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“ผิวขาว” ค่านิยมผิดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน

“ผิวขาว” ค่านิยมผิดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
        “พี่ มีครีมอะไรที่ทำให้ขาวไหมพี่ หนูอยากขาวแหละ” 
     
       น้องที่ทำงานคนหนึ่งถามดิฉัน
     
       ดิฉันมองเธอด้วยอาการงงๆ เล็กน้อย เพราะเธอไม่ได้คล้ำหรือดำแต่ประการใด เพียงแต่ไม่ได้ขาวจั๊วะก็เท่านั้น สอบถามได้ความว่าเธออยากขาวกว่าเดิมอีก ลองมาหลายสูตรแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ที่อึ้งไปพักหนึ่งเห็นจะเป็นวิธีการใช้สก็อตไบร์ทขัดถูตัว เพื่อหวังว่าจะทำให้เซลล์ที่ไม่ปรารถนาหลุดลอกไป
     
       นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินเรื่องราวทำนองนี้ เฉพาะเรื่องเอาสก็อตไบร์ทมาขัดถูตัวเคยได้ยินคนสารภาพมาแล้วอย่างน้อย 3 คน เหตุผลเหมือนกันคืออยากผิวขาวเหมือนคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง
     
       ที่ได้ยินบ่อยอาจเป็นเพราะเพื่อนเห็นว่าดิฉันผิวขาวอาจมีสูตรเด็ดก็ได้ หารู้ไม่ ก็ดิฉันมีเชื้อสายจีนก็ต้องหมวยขาวตามสูตรพันธุกรรม แต่ก็ใช่ว่าจะพอใจตัวเองนะ ยังจำได้ว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ ชอบออกไปตากแดดเพราะอยากให้ตัวเองดำขึ้น เขาเรียกว่าคนในอยากออก คนนอกอยากเข้านั่นแล
     
       ค่านิยมเรื่อง “ความขาว” กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชน หากดูผิวเผินก็ไม่น่าจะมีปัญหา เด็กอยากผิวขาวก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็เนื่องเพราะสังคมในทุกระดับต่างก็ให้ “ค่า” เรื่องความขาวจนเกินงาม
     
       เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อทีวีที่เห็นภาพทันที ยิ่งปัจจุบันมีภาพยนตร์โฆษณาที่ว่าด้วยเรื่องผิวขาวมากมายจริงๆ เวลาที่มีการโฆษณานั่นหมายความว่าชิ้นงานนั้นต้องถูกผลิตมาให้เกินจริง ทั้งขั้นตอนการถ่ายทำ การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยให้ขาวเนียนได้สุดๆ เพราะวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าให้ได้มากๆ
     
       บรรดาครีมบำรุงผิวสารพัดที่ขับเน้นเรื่องการทำให้ผิวสาวขาวได้ในเวลาอันรวดเร็วถูกนำเสนอผ่านสื่อ เป็นตัวกระตุ้นเร้าความอยากของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วเช่นกัน เรียกว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่หน้าขาวเท่านั้น แต่ต้องขาวทั้งตัว ขาวแม้ใต้วงแขน หรือจุดซ่อนเร้น...
“ผิวขาว” ค่านิยมผิดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
        กรณีของผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ก็เข้าใจได้ว่า การโฆษณาเป็นเรื่องเกินจริง แต่เด็กที่ต้องเสพสื่อเหล่านี้จำนวนมากทุกวี่วัน ยังขาดวิจารณญาณหรือคนชี้แนะ เมื่อเห็นก็อยากเลียนแบบ อยากใช้ผลิตภัณฑ์ที่พบเห็น สร้างความสนใจและดึงดูดใจเด็กสาวจำนวนมาก รวมไปถึงเด็กหนุ่มจำนวนไม่น้อย ที่หันมานิยมผิวขาวกันมากขึ้น
      
       ถ้ายังจำกันได้ถึงข่าวคราวเมื่อหลายปีก่อนมีเด็กวัย 6 ขวบ นำไฮเตอร์มาอาบน้ำ เพื่อหวังจะให้ตัวเองผิวขาวเหมือนคนอื่น เพราะเคยเห็นจากโฆษณาทางทีวี แต่ด้วยความที่เด็กวัย 6 ขวบ ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า น้ำยาที่ใช้สำหรับซักผ้าขาว เมื่อเด็กเห็นว่าผ้าขาวทันที ก็เลยคิดว่าเจ้าน้ำยาที่ว่าอาจจะทำให้ตัวของเด็กขาวได้ ก็เลยนำมาอาบน้ำซะเลย กลายเป็นข่าวโด่งดังมาแล้วครั้งหนึ่ง
      
       กระแสเรื่อง “ผิวขาว” กลายเป็นปัญหาของเด็กหนุ่มสาวยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการให้ “ค่า” ของคนที่ประสบความสำเร็จ ดารา นักร้องที่ผิวขาวก็จะได้รับความสนใจ มักจะประความสำเร็จ ในขณะที่คนผิวเข้มจะถูกจัดวางให้อยู่ในบทบาทการแสดงที่ด้อยกว่า หรือเป็นตัวแสดงที่เป็นปมด้อย เช่น ตัวตลก นางร้าย ฯลฯ 
      
       จะว่าไปจริงหรือไม่...เด็กที่เกิดมาผิวคล้ำก็จะถูกพูดในท่วงทำนองว่า เด็กคนนี้เกิดมาอาภัพตัวดำ จะโดยที่ผู้ใหญ่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่เด็กก็จะรู้สึกเป็นปมด้อยมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าโรงเรียนเด็กเหล่านี้ก็มักจะถูกเพื่อนล้อเลียนอยู่เสมอ ก็ยิ่งทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าสีผิวเป็นปัญหาของตัวเอง
      
       สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนซึมซับอยู่ทุกวัน 
      
       ยิ่งเมื่อผู้ประกอบการจับจุดนี้ได้ อาศัยค่านิยมด้วยการฉวยโอกาสเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการทำให้ผิวขาวชั่วข้ามคืน
      
       ดิฉันยังจำได้ว่าเด็กสาวคนหนึ่งเคยทำงานบ้าน เธอใช้ผลิตภัณฑ์ทาหน้าขาวจากคลินิกแห่งหนึ่งมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งหน้าเธอก็ขาวจริงๆ แต่ขาวเฉพาะหน้า ส่วนอื่นๆ ก็ผิวคล้ำตามปกติ แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่งหน้าเธอก็ขึ้นจุดๆ เธอไปพบแพทย์ แล้วกลับมาเล่าไปร้องไห้ไปบอกว่าหน้าเธอพังหมดแล้ว และเธอกำลังเป็นโรคผิวหนังอย่างรุนแรง จากนั้นเธอก็ลาออก แล้วก็ไม่ได้พบกันอีก
      
       ดิฉันได้มีโอกาสพบคุณหมออิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งห่วงใยเรื่องนี้มาก เพราะเด็กและเยาวชนในปัจจุบันรู้เท่าไม่ถึงการณ์เรื่องความอยากผิวขาว โดยที่ไม่มีความรู้ อีกทั้งในปัจจุบันก็มีตัวยาที่ชื่อว่า “กลูตาไธโอน” ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อให้ผิวขาวโดยฉีดเข้าเส้น แต่ในความเป็นจริง สารดังกล่าวสามารถทำให้ขาวได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ตัวยาดังกล่าวอาจเป็นอันตรายได้
      
       สื่อเป็นปัญหาใหญ่มากในสังคมขณะนี้ โดยเฉพาะสื่อทีวีที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดการเลียนแบบ ความนิยมผิวขาว ทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่สรรหาสารพัดวิธีที่จะทำให้ผิวขาวตนเองในเวลาอันรวดเร็ว หลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างตามสื่อต่าง ๆ ว่ามียาหรือเครื่องสำอางทำให้หน้าขาว แม้กระทั่งการฉีดยารักษาโรคมะเร็งที่มีสารกลูตาไธโอน เข้าเส้นเลือด หวังผลข้างเคียงของยาไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง เพื่อให้ผิวขาว โดยหารู้ไม่ว่าการได้รับสารปริมาณมากมีอันตรายถึงชีวิต
      
       แต่...ที่น่าประหลาดใจกลับพบว่าเด็กรุ่นใหม่ยอมเสี่ยงภัยเพื่อความงาม โดยไม่สนใจผลกระทบที่ตามมา มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000121748

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น